Daily Archives: สิงหาคม 29, 2009

บทความงานวิจัย:การเปรียบเทียบผลการเรียน เรื่องงานใบตอง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างการรียนด้วยโปรแกรมบทเรียนกับการเรียนแบบโครงงาน

การเปรียบเทียบผลการเรียน เรื่อง งานใบตอง   ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  ระหว่างการเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียนกับการเรียนแบบโครงงาน

A Comparisons  of  Effeets  of  Leavening  Entiled  Banana  Leaves’ Work of Prathomsuksa 5  Students  between Courseware  versus Project Approach

 

นันทิยา  นนท์อาสา,1   ไชยยศ  เรืองสุวรรณ,2   สานิตย์  กายาผาด3

Nuntiya  Nonarsa, 1   Chaiyot  Ruangsuwan,2   Sanit Kayaphat3

__________________________________

 

บทคัดย่อ

 

               การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมาย  1) เพื่อพัฒนาโปรแกรมบทเรียน เรื่อง งานใบตอง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80  ) เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลของโปรแกรมบทเรียนที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น  3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์ระหว่างการเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียนกับการเรียนแบบโครงงาน  4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการเรียนของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียนและการเรียนแบบโครงงาน  5) เพื่อเปรียบเทียบความคงทนในการเรียนของนักเรียน  ระหว่างการเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียนกับการเรียนแบบโครงงาน  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยใจในครั้งนี้คือ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  โรงเรียนบ้านโจดหนองแกหนองสิม  จำนวน  31  คน  ภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา 2550  ได้มาโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มกลุ่ม  (Cluster  Random  Sampling)   เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่  1)โปรแกรมบทเรียนเรื่องงานใบตอง  2)แผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน   3)แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์

_____________________________

1   นิสิตระดับปริญญาโท  สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

2   รองศาสตราจารย์,  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

3   รองศาสตราจารย์  คณะวิทยาการสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

1   M. A. Candidate in  Educational Technology, Faculty  of  Education,  Mahasarakham  University

2   Associate Professor,  Faculty  of  Education,  Mahasarakham  University

3   Associate Professor,   Faculty  of  Informatics,  Mahasarakham  University

ทางการเรียน  4)แบบวัดความคิดสร้างสรรค์ 5)แบบวัดความพึงพอใจในการเรียนของนักเรียน  สถิติที่ใช้ในการ วิเคราะห์ข้อมูล  คือ    ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ร้อยละ สถิติที่ใช้ในการทดสอบ สมมติฐานใช้วิธีวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมทางเดียว  (One – way  ANCOVA) และ t- test 

ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้

               1.  โปรแกรมบทเรียน  เรื่อง งานใบตอง กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพ  87.01/86.88   

               2.  โปรแกรมบทเรียน  เรื่อง  งานใบตอง กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพ  ค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ  0.7385  แสดงว่านักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนคิดเป็นร้อยละ  73.85 

               3.  นักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน  เรื่อง  งานใบตอง  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าการเรียนแบบโครงงาน  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  แต่มีความคิดสร้างสรรค์  ไม่แตกต่างกันกับการเรียนแบบโครงงาน 

               4.  นักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน  เรื่อง งานใบตอง  มีความพึงพอใจในการเรียนโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด  ส่วนนักเรียนที่เรียนแบบโครงงาน  มีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยรวมอยู่ในระดับมาก

  1. นักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน  เรื่อง  งานใบตอง  มีความคงทนในการเรียน  มากกว่าการเรียนแบบโครงงาน  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

 

คำสำคัญ   โปรแกรมบทเรียน, โครงงาน, ความคิดสร้างสรรค์

 

ABSTRACT

 

                   In career and technology strand instruction, it is necessary to have learners learn and practice from real situations and get through the creative thinking. However, learners are unable to learn or study all contents because of time limited. It is necessary to use courseware as assistance to support the instruction to have more efficiency. Because courseware is a child-centered center teaching method and conduct the individual study. Learner can learn from its anywhere and anytime. This study aimed to develop courseware on Banana leaves’ work  for Prathomsuksa 5  with a required efficiency of 80/80, to study courseware’s effectiveness index, to compare achievemen from courseware learning versus project approach, , to compare creative thinking from courseware learning versus project approach, , to study a student’s satisfaction with courseware learning and project approach, and to compare learner’s learning retention from courseware learning versus project approach. The sample consisted 31 of  the Prathomsuksa 5  students  in the second semester of the  academic year 2007 attending BanJodnonggaenongsim School. They were selected by a cluster

random sampling technique.  The instruments used in the study were  (1) the courseware on Banana leaves’ work ,  (2) a project approach lesson plan,  (3) 30 items of  multiple choice  achievement test with a reliability of 0.90, test (4) a creative thinking skill test with a reliability of 0.96,  (5)20 items of student’s satisfaction test  with a reliability of 0.94 and student’s satisfaction with a project approach with a reliability of 0.93. The statistics used for analyzing data were mean, standard deviation, percentage; and F – test (One way ANCOVA) and independent t-test were employed for testing hypotheses

                   The research findings were as follows:

                         1.  The developed courseware on Banana leaves’ work  for Prathomsuksa 5   in career

and technology strand had the efficiency of  87.01/86.88 which was higher than the required criterion.

                         2.  The developed courseware on  Banana leaves’ work  for Prathomsuksa 5   in career and technology strand had the effectiveness index of 0.7385, showing that the students progressed their learning at 73.85 percent.

                         3.  The students who learned using the courseware on Banana leaves’ work had higher

achievement than did the students who leaned using the project approach at the .05 level of significance.  However,  the two groups of these students did not show different creative thinking.

                         4.  The students who learned using the courseware on  Banana leaves’ work had a satisfaction with courseware learning at the most level and the students who learned using

the project approach showed satisfaction at the word level.

                         5.  The students who learned using the courseware on Banana leaves’ work indicatod higher learning retention than did the students who learned using the project approach. at the .05 level of significance.

                   In conclusion, this developed courseware was efficient and effective and it could be implemented in instruction to help leaners achieve their course learning objectives.

 

Keywords   :  courseware,  project approach, creative thinking 

 

บทนำ

 

           โปรแกรมบทเรียน (Courseware)   เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่อาศัยสื่อคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยลดความกดดันในเรื่องเวลา   ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้ใฝ่แสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง  และยังเอื้อต่อผู้เรียนที่ไม่กล้าแสดงออก  อาย  หรือไม่กล้าซักถามในชั้น  เพราะผู้เรียนสามารถค้นคว้าคำตอบได้จากโปรแกรมบทเรียน สามารถตอบสนองข้อมูลให้กับผู้เรียนได้ทันที  ซึ่งเป็นการเสริมแรงให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน  เนื่องจากมีทั้งภาพนิ่ง  ภาพเคลื่อนไหว  เสียง ที่สามารถทำให้ผู้เรียนได้เลือกที่จะเรียนรู้ตามความต้องการของตนเองตามที่ต้องการ  อีกทั้งโปรแกรมบทเรียนจะปล่อยให้ผู้เรียนกำหนดอัตราความเร็วของตนเองจึงเป็นคุณลักษณะที่ดีในแง่ของการตอบสนองที่แตกต่าง ระหว่างบุคคลของผู้เรียน  โดยโปรแกรมบทเรียน ที่ใช้คำถามเป็นสิ่งเร้า  ให้ป้อนผลกลับผู้เรียนและนำข้อมูลตอบสนองผู้เรียนมาตัดสิน และประเมิน  ผู้สอนจะสังเกตเห็นความก้าวหน้าของผู้เรียนได้เรียนไปแล้วในเนื้อหา  (ไชยยศ  เรืองสุวรรณ,   2550 : 1-3) และโปรแกรมบทเรียนเป็นสื่อที่มีกิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

           การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนเกิดจากประสบการณ์ตรง ที่ได้รับจากการปฏิบัติจริง  ฝึกให้แก้ปัญหาที่สงสัยโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ด้วยกระบวนการและวิธีการที่เป็นขั้นตอน ซึ่งประกอบด้วย 1)  คิดและเลือกปัญหาที่จะศึกษา  2) วางแผนในการทำโครงงาน 3) ดำเนินการทำโครงงาน 4) การเขียนรายงาน  5) การนำเสนอผลงาน  (กระทรวงศึกษาธิการ,  2544  :  30)   นักเรียนยังสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์อื่นได้  ทักษะที่ได้รับจะติดตัวนักเรียนนานและยั่งยืนกว่าการอ่านจากตำรา           ( วิมลรัตน์  สุนทรโรจน์,  2544 : 14-24)  กิจกรรมโครงงานเปิดโอกาสให้นักเรียนการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับเนื้อหาสาระต่าง ๆ ที่ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติและศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยอาศัยกระบวนการแสวงหาความรู้ต่าง ๆ ภายใต้คำแนะนำปรึกษาและการดูแลของครู ผู้เชี่ยวชาญ อาจใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วยในการศึกษาค้นคว้า เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์จนสามารถสรุปเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่พบได้ และเป็นการส่งเสริมด้านความคิด 

           จากการเปรียบเทียบผลการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์  เรื่อง  งานประดิษฐ์คิดสร้างสรรค์  กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยีชั้นประถมศึกษาปีที่  4  ระหว่างการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์กับการเรียนตามคู่มือครู ของเสาวลักษณ์  กอผจญ (2548  :  103-107) ทำให้ทราบว่าบทเรียนคอมพิวเตอร์ที่ ทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  และความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนที่เรียนตามคู่มือครู  อีกทั้งนักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์มีความพึงพอใจในการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับมาก  ดังนั้นบทเรียนคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกว่าโปรแกรมบทเรียนจึงเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะช่วยให้นักเรียนมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น  และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคุณลักษณะทางความคิดอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเด็กที่จะทำให้เด็กสามารถสร้างความคิด  สร้างจินตนาการ    หรือสภาพแวดล้อมที่กำหนดไว้  ความคิดสร้างสรรค์คือพลังที่เด็กๆ  ทุกคนมีมาแต่กำเนิด  หากได้รับการกระตุ้นพัฒนาพลังอย่างสร้างสรรค์จะทำให้เด็กเกิดอิสระทางความคิด และสามารถหาหนทางในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ  (สุวิทย์  มูลคำ,    2547 : 135) เป็นลักษณะความคิดอเนกมัย  (Divergent  Thinking)  ประกอบด้วยลักษณะความคิดริเริ่ม  (Originality)  ความคิดคล่องตัว  (Fluency)  ความคิดยืดหยุ่น  (Flexibility)  และความคิดละเอียดลออ  (Elaboration) (อารี  พันธ์มณี.   2540 : 3) 

           จากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีในปีการศึกษาที่ผ่านมาของโรงเรียนบ้านโจดหนองแกหนองสิม พบว่าผู้เรียนยังขาดทักษะและกระบวนการในการทำงาน  ขาดความคิดสร้างสรรค์  มีผลสัมฤทธิ์ต่ำ (รายงานผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนบ้านโจดหนองแก, 2550  :  83 ) ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการขาดสื่อที่จะนำเสนอสาระการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ครูยังไม่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนการเพื่อเน้นให้ผู้เรียน รู้จักกระบวนการคิด ผู้เรียนจึงขาดการคิด อีกทั้งครูบางคนยังใช้วิธีสอน ที่ไม่สอดคล้องกับวิธีการเรียนที่เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน  และวิธีการสอนของครูยังไม่มีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ไนการเรียนการสอน  ดังนั้นโปรแกรมบทเรียนและการเรียนแบบโครงงานจึงเป็นกระบวนการเรียนที่จะแก้ปัญหาด้านผลสัมฤทธิ์  ความคิดสร้างสรรค์ และความคงทนในการเรียนได้

 

ความมุ่งหมายของการวิจัย

 

           1.  เพื่อพัฒนาโปรแกรมบทเรียน  เรื่อง งานใบตอง   กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80

           2.  เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลของโปรแกรมบทเรียน  งานใบตอง   กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น

           3. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ ความคิดสร้างสรรค์เรื่อง งานใบตอง กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  ระหว่างการเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียนกับการเรียนแบบโครงงาน

            4. เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการเรียนของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียนและการเรียนแบบโครงงาน

            5. เพื่อเปรียบเทียบความคงทนในการเรียนของนักเรียน  เรื่อง งานใบตอง กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  ระหว่างการเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียนกับการเรียนแบบโครงงาน

 

 

สมมติฐานของการวิจัย

 

  1.  นักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน เรื่อง งานใบตอง   กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าการเรียนแบบโครงงาน

  2.  นักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน เรื่อง งานใบตอง   กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  มีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าการเรียนแบบโครงงาน

  3.  นักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน เรื่อง งานใบตอง   กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  มีความความคงทนในการเรียนมากกว่าการเรียนแบบโครงงาน

 

ระเบียบวิธีการวิจัย

 

              ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

               ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550

ศูนย์พัฒนาเครือข่ายวิชาการโจดหนองแก-โสกนกเต็น  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น  เขต  3 จำนวน  4  โรงเรียน  นักเรียนจำนวน 68 คน

               กลุ่มตัวอย่างได้แก่ โรงเรียนบ้านโจดหนองแกหนองสิม  จำนวน  31  คน ได้มาโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มกลุ่ม  (Cluster  Random  Sampling)  จากโรงเรียนที่มีการจัดห้องเรียนแบบคละกลุ่มความสามารถ โดยวิธีการจับฉลาก ครั้งที่ 1 ได้ โรงเรียนบ้านโจดหนองแกหนองสิม ซึ่งมีนักเรียน 2 ห้องเรียน  จับฉลาก ครั้งที่ 2 ได้นักเรียนชั้น ป.5/1 เป็นกลุ่มทดลองที่ 1 จำนวน  16  คน เรียนโดยใช้โปรแกรมบทเรียน  นักเรียนชั้น ป. 5/2  จำนวน  15  คน เป็นกลุ่มทดลองที่ 2   โดยเรียนแบบโครงงาน 

 

           เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

 

              1.โปรแกรมบทเรียน เรื่อง งานใบตอง  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  มี  7 หน่วยการเรียน  ใช้เวลาเรียน  16  ชั่วโมง

           2.  แผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน  เรื่องงานใบตอง  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มี  7  แผน  ใช้เวลาเรียน  16  ชั่วโมง

           3.  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน เรื่องงานใบตอง จำนวน  1  ฉบับ เป็นแบบปรนัย ชนิด  4  ตัวเลือก จำนวน  30  ข้อ  มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่  0.54  ถึง  0.88  และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ  0.95

           4.  แบบวัดความคิดสร้างสรรค์  จำนวน  12  ชุดลักษณะเป็นแบบรูปภาพ และเติมคำ

มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ ตั้งแต่  2.85  ถึง  7.76  มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ  0.96

           5.  แบบวัดความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อโปรแกรมบทเรียน เรื่อง งานใบตองเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) แบ่งระดับความพึงพอใจเป็น 5 ระดับ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุดจำนวน  1  ฉบับมีคำถาม  20 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ ตั้งแต่  3.75  ถึง  5.71  ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ  0.94 

 

              การดำเนินการวิจัย

          

               1.ให้กลุ่มทดลองที่1  และกลุ่มทดลองที่ 2  ทำแบบวัดความคิดสร้างสรรค์ก่อนเรียน (Pre – test) และทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อน เรียน (Pre-test)  จำนวน 30 ข้อ

               2. ทำการทดลอง โดยดำเนินการสอนกับ 2 กลุ่ม โดยใช้เวลาในการสอน 16 ชั่วโมง ให้กลุ่มทดลองที่ 1 เรียนโดยใช้โปรแกรมบทเรียนให้กลุ่มทดลองที่ 2 เรียนแบบโครงงาน  ตามวันและเวลาในการดำเนินการทดลอง 

               3.  ให้กลุ่มทดลองที่1  และกลุ่มทดลองที่ 2  ทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน (Post – test)  โดยใช้แบบทดสอบชุดเดียวกันกับการทดสอบก่อนเรียน และ ทำแบบวัดความคิดสร้างสรรค์หลังเรียน (Post – test)  โดยใช้แบบวัดความคิดสร้างสรรค์ชุดเดียวกันกับการทำแบบวัดก่อนเรียน  ตอบแบบวัดความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน และต่อการเรียนแบบโครงงาน 

               4. หลังจากสอบหลังเรียนผ่านไปแล้ว  2  สัปดาห์ ให้กลุ่มทดลองที่ 1  และกลุ่มทดลองที่ 2  ทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Post – test) โดยใช้แบบทดสอบชุดเดียวกันกับแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์หลังเรียน เพื่อเก็บข้อมูลศึกษาความคงทนในการเรียน 

 

          การวิเคราะห์ข้อมูล

 

  1. หาประสิทธิภาพโปรแกรมบทเรียน  โดยใช้สถิติพื้นฐาน  ได้เเก่  ค่าเฉลี่ย

ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และร้อยละ

  1. หาดัชนีประสิทธิผลโปรแกรมบทเรียน โดยใช้สูตรคำนวณหาค่าดัชนีประสิทธิผล 
  2. เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนระหว่าง

การเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียนกับการเรียนแบบโครงงาน โดยใช้สถิติ F- test (One – way ANCOVA )

  1. ศึกษาความพึงพอใจในการเรียนของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยโปรแกรม

บทเรียนและการเรียนแบบโครงงาน โดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และร้อยละ

  1. เปรียบเทียบความคงทนในการเรียนของนักเรียน ระหว่างการเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียนกับการเรียนแบบโครงงาน  โดยใช้สถิติ t-test (Independent samples)

 

ผลการวิจัย

 

           1.โปรแกรมบทเรียน เรื่อง งานใบตอง   กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ  เท่ากับ   87.01 /86.88 สูงกว่าเกณฑ์คือ 80/80

           2.  โปรแกรมบทเรียน เรื่อง งานใบตอง   มีค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ  0.7385  หรือคิดเป็นร้อยละ  73.85  แสดงว่า  โปรแกรมบทเรียนทำให้นักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนร้อยละ  73.85 

           3.  ผลการเปรียบเทียบสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องงานใบตอง  นักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน  สูงกว่า  การเรียนแบบโครงงาน  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  แต่มีความคิดสร้างสรรค์  ไม่แตกต่างกันกับการเรียนแบบโครงงาน 

           4.  ความพึงพอใจในการเรียนรู้  เรื่อง งานใบตอง  นักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน มีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับ พึงพอใจมากที่สุด  (    = 4.51)  และการเรียนแบบโครงงาน มีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับ พึงพอใจมาก (    =    4.48  )

           5.  ผลการเปรียบเทียบความคงทนในการเรียน เรื่อง งานใบตอง  นักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียนมีความคงทนในการเรียน  มากกว่า การเรียนแบบโครงงาน  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

 

อภิปรายผล

              1.  ผลจากการทดลองเพื่อหาประสิทธิภาพของโปรแกรมบทเรียน เรื่องงานใบตอง  กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี    ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 87.01 /86.88  หมายความว่า  โปรแกรมบทเรียน  ทำให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างเรียนเฉลี่ยร้อยละ  87.01  และทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนเฉลี่ยร้อยละ  86.88  แสดงว่าโปรแกรมบทเรียน  ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น  มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์  80/80  ทั้งนี้เนื่องจาก ผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์เนื้อหา  วิเคราะห์ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  สร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  การพัฒนาโปรแกรมบทเรียน  ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา  ด้านสื่อและโปรแกรม  ด้านวัดผลประเมินผลการศึกษา ประธานกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์  และกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์  อย่างเป็นขั้นตอนได้ปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะ  จากนั้นได้ทำการทดลองใช้ตามรูปแบบการพัฒนาสื่อ  โดยทดลองใช้บทเรียนแบบหนึ่งต่อหนึ่ง  และทดลองแบบกลุ่มเล็ก    แก้ไขบทเรียนให้มีประสิทธิภาพ  โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามหลักวิชาการ  อาศัยหลักการออกแบบและพัฒนาตามลำดับขั้นทางวิชาการของ  (ไชยยศ  เรืองสุวรรณ,  2550 : 77 – 88) ได้แบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนดังนี้คือ  ขั้นที่ 1 วิเคราะห์ ขั้นที่ 2  ออกแบบ ขั้นที่ 3  พัฒนาบทเรียน ขั้นที่ 4  นำไปใช้/ทดลองใช้ ขั้นที่ 5  ประเมินและปรับปรุงแก้ไข แล้วผู้วิจัยได้นำดัดแปลงเพื่อพัฒนาโปรแกรมบทเรียน  และได้นำเสนอบทเรียนด้วยเนื้อหาที่กระชับอ่านเข้าใจง่าย  มีภาพกราฟิก  และภาพเคลื่อนไหว  ออกแบบให้สะดวกในการใช้  มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน  เร้าความสนใจ  ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ สอดคล้องกับงานวิจัยของ  สุรกิจ  ภูงามทอง  (2548  :  86-87)  ศึกษาการเปรียบเทียบผลการเรียนรู้เรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศ  ชั้นประถมศึกษาปีที่  5  ระหว่างการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์กับการเรียนตามคู่มือครู พบว่า  บทเรียนคอมพิวเตอร์ มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 83.63/82.67  คาร์เตอร์ (1999)  ศึกษาผลของการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนในระดับอาชีวะศึกษาระดับสูง  โดยการเปรียบเทียบผลของการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน  กับระบบการสอนแบบเก่าโดยใช้สื่อสองอย่างระหว่างคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกับสื่อดั้งเดิม  พบว่า  สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนน่าสนใจกว่าสื่อแบบดั้งเดิม  การค้นพบครั้งนี้สอดคล้องและสนับสนุนทฤษฎีที่ว่า  คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นเครื่องมือที่มือที่ใช้ได้ผลสำหรับการสอนอย่างยิ่ง

           2.  ผลการวิเคราะห์ดัชนีประสิทธิผล ของโปรแกรมบทเรียน เรื่องงานใบตอง  กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5   ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีค่าเท่ากับ    0.7385  หรือคิดเป็นร้อยละ  73.85  หมายความว่า  หลังจากเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียนแล้ว นักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนคิดเป็นร้อยละ  85.33  ที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจาก โปรแกรมบทเรียน  ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นได้ออกแบบให้มีกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง และภาพประกอบที่สอดคล้องกับเนื้อหา  ตัวอักษรที่มีขนาดเหมาะสม สวยงาม อ่านง่ายสบายตา มีกิจกรรมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และฝึกปฏิบัติ  มีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายเรียนรู้ด้วยตัวเอง  ทำแบบทดสอบ  ทำให้ทราบข้อบกพร่องของตนเอง  มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน  ทำให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน และไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในบทเรียน เพราะผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ (ไชยยศ  เรืองสุวรรณ,  2550 : 3 – 4)  จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ผู้เรียนที่เรียนด้วย โปรแกรมบทเรียนมีคะแนนเพิ่มขึ้น  สอดคล้องกับงานวิจัยของ  นิรันดร์  ห่มสิงห์  (2547  :  74-77)  ศึกษาการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์  เรื่อง  การปลูกพืชผักสวนครัว  ชั้นประถมศึกษาปีที่  5  พบว่า ดัชนีประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์  เท่ากับ  0.6580   ศรินญา  วรรณภักดิ์  ( 2548)  ศึกษาการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์  กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  เรื่อง  งานประดิษฐ์ใบตอง  สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่  2 พบว่าดัชนีประสิทธิผล  เท่ากับ 0.80

           3.  ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  เรื่อง งานใบตอง   กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  นักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่านักเรียนที่เรียนแบบโครงงาน  อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับสถิติ .05  ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ข้อที่ 1 ที่เป็นเช่นนี้เพราะโปรแกรมบทเรียนที่เป็นสื่อการสอนที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง  ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนกับเครื่องคอมพิวเตอร์มีความสามารถในการตอบสนองต่อข้อมูลที่ผู้เรียนป้อนเข้าไปได้ทันที  เป็นการช่วยเสริมแรงแก่ผู้เรียน  ซึ่งบทเรียนจะมีตัวอักษร  ภาพกราฟิก  ภาพนิ่ง  ภาพเคลื่อนไหว  รวมทั้งเสียงประกอบ  ทำให้ผู้เรียนสนุกกับการเรียน  ไม่รู้สึกเบื่อ( กิดานันท์  มลิทอง,  2543  :  243)  มีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย  นักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียนมีความสนใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนมากขึ้น มีความสนุกสนานในการเรียน ใช้ง่าย  และต้องการเรียนวิชาอื่นๆ ด้วยโปรแกรมบทเรียนอีก  อีกประการหนึ่ง เป็นการฝึกทักษะการใช้คอมพิวเตอร์แก่นักเรียนด้วย ดังนั้น นักเรียนจึงมีความต้องการที่จะเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน  สอดคล้องกับงานวิจัยของคมดาว  พุทธโคตร  (2549  :  87-92)  ได้วิจัย  การเปรียบเทียบผลของการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์  เรื่อง  เทคโนโลยีสารสนเทศกับการเรียนตามปกติที่มีต่อผลการเรียนรู้  ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  6  พบว่านักเรียนที่เรียนด้วยคอมพิวเตอร์มีผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนสูงกว่านักเรียนที่เรียนตามปกติ  สุรกิจ  ภูงามทอง  (2548  :  86-87)  ศึกษาการเปรียบเทียบผลการเรียนรู้เรื่อง  เทคโนโลยีสารสนเทศ  กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่  5  ระหว่างการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์กับการเรียนตามคู่มือครู  พบว่า กลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุม 

            ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์  เรื่องงานใบตอง  กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี แตกต่างกัน  ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ข้อที่ 2  ที่เป็นเช่นนี้เพราะ  วิธีการเรียนทั้ง  2 วิธี เป็นการสอนที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้แก่นักเรียน  นักเรียนมีความกระตือรือร้นและสนใจเรียน พร้อมทั้งได้รับการเสริมแรงของครูและเพื่อนในชั้นเรียนหรือจากสื่อโปรแกรมบทเรียน จึงทำให้มีกำลังใจและตั้งใจเรียนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้  สื่อการเรียนรู้ของวิธีการเรียนทั้ง 2  วิธีเป็นสื่อที่มีกระบวนการฝึกความคิดสร้างสรรค์ทั้ง 4  คือ ความคิดริเริ่ม  ความคิดคล่องแคล่ว  ความคิดยืดหยุ่น และความคิดละเอียดลออ  ความคิดสร้างสรรค์  (สุวิทย์  มูลคำ,  2547  :  135)   เป็นความสามารถทางสมองในการแสดงของความคิดหลายแง่หลายมุม  และหลายทิศทาง  คิดได้กว้างไกลมันจะนำไปสู่สิ่งประดิษฐ์แปลก ๆ  ใหม่ ๆ  หรือคิดปรับปรุงดัดแปลงสิ่งของที่มีอยู่เดิมให้มีรูปแบบใหม่ไม่ซ้ำผู้อื่น ที่สร้างขึ้นอย่างมีหลักการวิชาการ  จึงทำให้นักเรียนได้ฝึกจนเกิดความชำนาญได้ดียิ่งขึ้นการเรียนด้วยโปรแกรมนักเรียน  มีกิจกรรมและใบงานให้ได้มีโอกาสฝึกคิดทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่มได้ทำงานร่วมกัน  มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  นักเรียนเกิดการเรียนรู้  ในการเรียนแบบโครงงาน  เป็นวิธีการเรียนที่ส่งเสริมในด้านกระบวนการคิดอยู่แล้ว  โดยให้นักเรียนคิดเลือกปัญหา  วางแผน  ปฏิบัติกิจกรรม  สรุปความรู้ด้วยและนำเสนอด้วยตัวเอง ครูผู้สอนเป็นเพียงที่ปรึกษา   ซึ่งมีการแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มสมาชิกภายในกลุ่มจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  มีการฝึกคิดแต่ละบุคคล  และนำความคิดแต่คนมาช่วยกันคิดหาข้อสรุปในกลุ่ม  เพื่อนำไปสู่การฝึกทักษะปฏิบัติ  สอดคล้องกับงานวิจัยของ  นรินทร์  สุ่มมาตร์  (2548 : 87-90)  ศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์  ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  ระหว่างการเรียนจากวีดิทัศน์แบบปฏิสัมพันธ์ พบว่า นักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนวีดิทัศน์แบบปฏิสัมพันธ์  มีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าการสอนแบบปกติ    เสาวลักษณ์  กอผจญ  (2548 : 103-107)  ศึกษาการเปรียบเทียบผลการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์  เรื่อง  งานประดิษฐ์คิดสร้างสรรค์  ชั้นประถมศึกษาปีที่  4  ระหว่างการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์กับการเรียนตามคู่มือครู พบว่า  นักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  และความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนที่เรียนตามคู่มือครู

           4.  นักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน  เรื่องานใบตอง  กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  มีต่อความพึงพอใจในการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน  โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด  และมีความพึงพอใจเป็นรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด 10  ข้อ  และระดับมาก  10  ข้อ  โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ  ควรมีโปรแกรมบทเรียนทุกสาระการเรียนรู้  ความพึงพอใจในการเรียนของนักเรียนที่เรียนแบบโครงงาน  โดยรวมอยู่ในระดับมาก  และมีความพึงพอใจเป็นรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด  9  ข้อ  และระดับมาก  11 ข้อ  โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ  นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองและร่วมงานกลุ่ม   ทั้งนี้เพราะโปรแกรมบทเรียนเป็นกระบวนการเรียนที่นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ มีผลแสดงความก้าวหน้าทางการเรียนเป็นระยะ ๆ ท้าทายให้นักเรียนเกิดความพยายามจนถึงระดับหนึ่งก็จะได้รับความสำเร็จทันที จึงทำให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ และต้องการเรียนจากสื่อโปรแกรมบทเรียนในเรื่องต่อไปอีก  (ไชยยศ  เรืองสุวรรณ. 2550 : 3)  ส่วนการเรียนแบบโครงงานเป็นการเรียนแบบแบ่งกลุ่มผู้เรียนภายในกลุ่ม มีทั้งผู้เรียนเก่ง ปานกลาง และอ่อน อยู่ด้วยกัน มีการร่วมกันคิด  ปฏิบัติงาน  ซึ่งความพึงพอใจ  ความรู้สึกพอใจ  ชอบใจ  ในการร่วมปฏิบัติกิจกรรมการเรียนการสอนที่นักเรียนมีต่อการเรียน จะนำถูกกำหนดโดยความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนที่ได้รับรู้แล้วความพึงพอใจย่อมเกิดขึ้น  (สมยศ  นาวีการ.   2521  :  119) ทำให้นักเรียนมีความพึงพอใจดังผลที่ปรากฏ  สอดคล้องกับงานวิจัย ของ  อนุชิต   สารลึก  (2547  :  80-83)  ศึกษาการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  (งานเกษตร)  เรื่องการขยายพันธุ์โดยการปักชำชั้นประถมศึกษาปีที่  6 พบว่าความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์มีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์พอใจมาก  สุเพียร  สารลึก   ( 2547 ) ศึกษาการพัฒนาแผนการเรียนรู้แบบโครงงาน  เรื่อง  การถนอมอาหาร  และการแปรรูป  ชั้นประถมศึกษาปีที่  6  พบว่านักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน  เท่ากับ  4.46

           5.  ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบความคงทนในการเรียนของนักเรียน  เรื่อง งานใบตอง   กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5   จากการทดสอบความคงทนในการเรียนของนักเรียน  ระหว่างการเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน  มีความคงทนในการเรียนรู้ของนักเรียน  มากกว่า  การเรียนแบบโครงงาน  อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับสถิติ .05  เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ข้อที่ 3  เมื่อเทียบความคงทนของนักเรียนที่เรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน  เรียนผ่านไปแล้ว2  สัปดาห์    พบว่ามีความจำเหลืออยู่เท่ากับ  93.13  หรือความจำลดลงร้อยละ  6.87  ของคะแนนเฉลี่ยหลังเรียน  และความคงทนนักเรียนที่เรียนแบบโครงงานเรียนผ่านไปแล้ว2  สัปดาห์    พบว่าความจำเหลืออยู่เท่ากับ  90.65  หรือมีความจำลดลงร้อยละ  9.35  ของคะแนนเฉลี่ยหลังเรียน  เมื่อนำไปเปรียบเทียบความคงทนในการเรียน การเรียนด้วยโปรแกรมนักเรียนมีความจำได้ดีกว่าการเรียนแบบโครงงาน  ทั้งนี้อาจเนื่องจาก การเรียนด้วยโปรแกรมบทเรียน  สามารถศึกษาบทเรียนได้ตลอดเวลา  เรียนซ้ำได้จนเข้าใจ เพราะบทเรียนไม่จำกัดในเรื่องของเวลา  และสถานที่  จึงส่งผลต่อการรักษาไว้ซึ่งผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือการเรียนให้คงอยู่ต่อไป ตลอดจนสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพในการจำ คือ 1. การให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่มีความหมาย 2. การทบทวน การอ่าน หรือการท่องอยู่เสมอ 3. หลีกเลี่ยงไม่ให้มีผลการเรียนรู้อื่นสอดแทรก ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการจดจำหรือเกิดการจำสับสนขึ้นได้ 4. ให้ผู้เรียนได้เห็นความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่เรียน วิธีการนี้จะทำให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาเข้ากันได้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำในสิ่งที่เรียนได้นาน หรือมีความคงทนในการเรียนรู้ได้นานยิ่งขึ้น (ประสาท  อิศรปรีดา. 2523 : 230) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสุภัทรา  เย็นเศรณี  (2549)  ศึกษาการเปรียบเทียบผลการเรียนรู้  และเจตคติต่อคอมพิวเตอร์ระหว่างนักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์กับการเรียนแบบปกติ  ที่เน้นกระบวนการปฏิบัติ  พบว่านักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์  กับที่เรียนแบบปกติเมื่อเวลาผ่านไป  2  สัปดาห์มีความคงทนในการเรียนรู้เท่ากับร้อยละ  96.49  และ  89.90  ของคะแนนผลสัมฤทธิ์เฉลี่ยหลังเรียน 

 

ข้อเสนอแนะ

 

           1.  ข้อเสนอในการนำโปรแกรมบทเรียนไปใช้

               1.1  จากผลการวิจัยพบว่า  ผู้เรียนที่คุณลักษณะแตกต่างกัน  ย่อมมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกัน โปรแกรมบทเรียนเป็นสื่อที่มีความสามารถในการนำเสนอให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ จึงควรสนับสนุนให้นำโปรแกรมบทเรียนมาใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนในเรื่องอื่นต่อไป

               1.2  ไม่ควรจำกัดเวลาของผู้เรียน แต่ควรจะให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสามารถของตน

               1.3  การจัดการเรียนการสอนด้วยโปรแกรมบทเรียน  ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงและความเป็นไปได้ในการจัดการเรียนการสอนเพราะการใช้บทเรียนจำเป็นต้องใช้ เครื่องคอมพิวเตอร์ อย่างเพียงพอกับจำนวนนักเรียน อีกทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ต้องมีสมรรถนะใกล้เคียงกัน

           2.  ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป

               2.1  ควรมีการศึกษาการใช้โปรแกรมบทเรียนในเนื้อหา วิชา และระดับชั้นอื่น ๆ และศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหา ระยะเวลาที่เหมาะสม

               2.2  ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของการใช้โปรแกรมบทเรียนกับวิธีการสอนแบบอื่นๆ หรือเปรียบเทียบกับสื่อมัลติมีเดียอื่น ๆ

               2.3  ควรมีการศึกษารูปแบบของโปรแกรมบทเรียนที่เหมาะสมต่อความต้องการของผู้เรียน

เอกสารอ้างอิง

 

กระทรวงศึกษาธิการ.  ( 2544).  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน.  กรุงเทพฯ:

           องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.

กิดานันท์  มลิทอง. (2536).  เทคโนโลยีการศึกษาร่วมสมัย.    กรุงเทพฯ  :  เอดิสัน เพรส โพรดัก, 

คมดาว  พุทธโคตร. (2549). การเปรียบเทียบผลของการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์  เรื่อง  เทคโนโลยีสารสนเทศกับการเรียนตามปกติที่มีต่อผลการเรียนรู้ของนักเรียนชั้น

              ประถมศึกษาปีที่ 6. วิทยานิพนธ์  กศ.ม. มหาวิทยาลัย มหาสารคาม, มหาสารคาม.

ไชยยศ  เรืองสุวรรณ.  (2550).   การออกแบบพัฒนาโปรแกรมบทเรียน.    พิมพ์ครั้งที่ 11

           มหาสารคาม  :  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

นรินทร์  สุ่มมาตร์.  (2548).  เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ระหว่างการเรียนจากวีดิทัศน์แบบปฏิสัมพันธ์กับ

              การสอน  แบบปกติ  เรื่อง การออกแบบผลิตภัณฑ์ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี.  วิทยานิพนธ์  กศ.ม, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.

นิรันดร์  ห่มสิงห์(2547).  การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ เรื่อง  การปลูกพืชผักสวนครัว  กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่  5. 

           การค้นคว้าอิสระ  กศ.ม., มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,  มหาสารคาม.

ประสาท  อิศรปรีดา. (2523). จิตวิทยาการเรียนรู้กับการสอน.: กรุงเทพฯ : กราฟิคอาร์ต.

วิมลรัตน์  สุนทรโรจน์.  (2545).  “กระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงาน. ” ในเอกสารประกอบการสอน.

              หน้า  14-24.  มหาสารคาม  :  ภาควิชาหลักสูตรและการสอน  คณะศึกษาศาสตร์

           มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

โรงเรียนบ้านโจดหนองแกหนองสิม. ( 2550).  เอกสารรายงานผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2549. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 3

ศรินญา  วรรณภักดิ์.  (2548). การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ

  และเทคโนโลยี  เรื่อง งานประดิษฐ์ใบตอง  สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 2.    การศึกษา     

  ค้นคว้อิสระ กศ.ม.,  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.

สมยศ  นาวีการ. (2525).   จิตวิทยาการศึกษา.  กรุงเทพฯ  :  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 

สุเพียร  สารลึก.  (2547).การพัฒนาแผนการเรียนรู้แบบโครงงาน เรื่อง  การถนอมอาหาร และการ

  แปรรูปกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี งานเกษตร  ชั้นประถมศึกษา

              ปีที่ 6. การศึกษาค้นคว้าอิสระ กศ.ม., มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.

สุภัทรา  เย็นเศรณี.  (2549).  การเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ และเจตคติต่อคอมพิวเตอร์ระหว่างนักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์กับการเรียนแบบปกติ ที่เน้นกระบวนการปฏิบัติ เรื่องการทำโครงงานโดยใช้โปรแกรมไมโครชอฟ์เวิร์ด กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 .วิทยานิพนธ์  กศ.ม.,  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.

สุวิทย์   มูลคำ.  (2547).  กลยุทธ์การสอนคิดสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์

สุรกิจ  ภูงามทอง. (2548). การเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ เรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มสาระการเรียนการงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์กับการเรียนตามปกติ.  วิทยานิพนธ์  กศ.ม., มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,  มหาสารคาม

เสาวลักษณ์  กอผจญ.  (2548).  เปรียบเทียบผลการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ เรื่อง งานประดิษฐ์ความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์กับการเรียนตามคู่มือครู. วิทยานิพนธ์  กศ.ม., มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.

อนุชิต   สารลึก. (2547). การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและ

              เทคโนโลยีงานเกษตร เรื่อง การขยายพันธุ์พืชโดยวิธีปักชำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6.   

           การศึกษาค้นคว้าอิสระ  กศ.ม.,  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,  มหาสารคาม.

อารี   พันธ์มณี.  (2540).  ความคิดสร้างสรรค์กับการเรียนรู้. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ.

Carter, Faye  Isobel.  (1999).  “The  Effects  of Computer-assisted  Instruction  on  Vocational  Education   High  School  Students,”  Masters  Abstracts  I